วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การปลูกมะนาว


การปลูกมะนาว

มะนาวเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดเล็ก ตระกูลเดียวกับส้ม เป็นพืชที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการสูงตลอดทั้งปี ปริมาณการใช้มะนาวมีผู้คำนวณไว้คร่าวๆว่า คนไทยใช้มะนาวทั่วประเทศประมาณวันละ 1 ล้านผล ในปัจจุบันความต้องการของตลาดมีมากขึ้นเป็นลำดับ อันเนื่องมาจากปริมาณการเพิ่มขึ้นของพลเมืองและการขยายตัวของอุตสาหกรรมมะนาวจึงเข้ามามีบทบาททางการค้ามากขึ้น ผู้ปลูกสามารถจำหน่ายได้ราคาดี โดยเฉพาะในฤดูแล้งประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนของทุกปี มะนาวมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ราคาขายเมื่อถึงมือผู้บริโภคจะตกถึงผลละ 2-3 บาท ซึ่งนับเป็นราคาที่แพงมาก มะนาวมีประโยชน์หลายประการ เป็นต้นว่าใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารต่างๆ ใช้ปรุงรสให้อาหารมีรสเปรี้ยวและใช้ทำเครื่องดื่มได้หลายชนิด น้ำมะนาวอุดมไปด้วยวิตามิน บี1 บี2 วิตามินซี และธาตุอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอีกหลายชนิด  ทุกๆส่วนของมะนาวไม่ว่า ใบ ผล ลำต้น หรือเมล็ด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในแง่สมุนไพรรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้มะนาวยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมได้หลายอย่าง สำหรับประโยชน์ด้านอื่นๆใช้ขัดถูภาชนะที่เป็นทองแดง หรือทองเหลืองให้เงางาม และนำมาทาผิวมะพร้าวอ่อนหลังปอกเปลือก เพื่อให้เนื้อมะพร้าวขาวอยู่ได้นานขึ้น จะเห็นได้ว่ามะนาวเป็นไม้ผลที่ให้คุณค่าและความสำคัญจากผลไม้อื่นๆ ที่ใช้เพียงบริโภค และสามารถที่หาผลไม้อื่นที่มีราคาถูกตามฤดูกาลมาบริโภคแทนได้ ทั้งนี้เพราะมะนาวมีคุณสมบัติในด้านรสชาติและกลิ่นเฉพาะตัว ยากที่จะหาผลไม้อื่นมาทดแทน ไม่ว่ามะนาวจะมีราคาแพงแค่ไหนผู้บริโภคก็จำเป็นจะต้องซื้อหามาบริโภคให้ได้รวมทั้งการขยายตัวทางอุตสาหกรรมที่สำคัญหลายชนิดที่จำเป็นที่จะต้องใช้มะนาวเป็นวัตถุดิบในการผลิตจึงทำให้ตลาดและการซื้อขายมะนาวมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น การปลูกมะนาวเป็นการค้ายังคงมีลู่ทางที่สดใส มีแนวโน้มที่จะทำรายได้ให้กับผู้ปลูกมะนาวเป็นโอกาสดีของเกษตรกรที่จะหันมาปลูกมะนาวเป็นการค้ากันอย่างจริงจัง
                                 
   

                                                    ประโยชน์ของมะนาว

มะนาวเป็นพืชที่มนุษย์เรานำมาใช้ประโยชน์กันอย่างกว้างขวางเช่น การนำไปปรุงรสอาหารให้ชวนรับประทาน นำไปเป็นส่วนผสมของยาแผนโบราณหลายชนิด และในปัจจุบันมะนาวยังสามารถนำไปใช้อุตสาหกรรมที่สำคัญๆ ได้อีกด้วย สำหรับคนไทยโดยทั่วไปมักคุ้นเคยกับการใช้ประโยชน์ของมะนาวอยู่มาก จึงจัดมะนาวเป็นพืชประจำครัวเรือน นับตั้งแต่สมัยก่อนจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งจะได้กล่าวถึงประโยชน์ของมะนาวโดยทั่วๆ ไปดังนี้

ด้านคุณค่าทางอาหาร  มะนาวมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก ดังจะเห็นได้จากการวิเคราะห์คุณค่าของมะนาว โดยเฉลี่ยจากส่วนที่กินได้ของมะนาว 100 กรัม มีดังนี้คือ

ความชื้น          93.1     กรัม     วิตามิน บี 1      0.70     มิลลิกรัม

ไขมัน              2.4       กรัม     วิตามิน บี2       0.73     มิลลิกรัม

กาก                 0.3       กรัม     วิตามินซี          52        มิลลิกรัม

โปรตีน                        0.8       กรัม     ไนอาซีน          0.2       มิลลิกรัม

คาร์โบไฮเดรต 6.3       กรัม     แคลอรี             40        หน่วย

แคลเซี่ยม         17.5     มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส   11.0     มิลลิกรัม

เหล็ก               0.1       มิลลิกรัม   วิตามิน       10.30   หน่วยสากล

มะนาวสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ต้มยำ ส้มตำ น้ำพริก เป็นต้น ซึ่งอาหารเหล่านี้เป็นที่นิยมของคนไทยมาก น้ำมะนาวยังสามารถใช้ทำเป็นเครื่องดื่มได้หลายชนิด เช่น น้ำมะนาวปั่น ไวน์มะนาว เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำเป็นอาหารในรูปแบบอื่นๆ ได้อีก เช่น มะนาวดอง มะนาวแช่อิ่ม มะนาวกวนปรุงรส เป็นต้น

ด้านอุตสาหกรรม  ในปัจจุบันมะนาวได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมที่สำคัญๆ หลายอย่าง ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตกรดซิตริกที่จำเป็นต้องใช้มะนาวเป็นวัตถุดิบ อุตสาหกรรมน้ำอัดลม ที่ต้องใช้มะนาวเป็นเครื่องปรุงแต่งรสและกลิ่น รวมไปถึงอุตสาหกรรมผลิตเครื่องสำอาง สบู่ ผงซักฟอก น้ำมันใส่ผมและอื่นๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้มะนาวเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น และนับวันจะมีความต้องการมะนาวไปใช้ในการผลิตทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ

ด้านสมุนไพร  มะนาวเป็นผลไม้พื้นๆ ที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่ามะนาวลูกเล็กๆ นั้น มีประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆ ได้มากมายหลายโรคด้วยกัน ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่ใช้มะนาวรักษาโรค ประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น มาเลเซีย จีน และอินเดีย เขาก็ใช้มะนาวกัน ประเทศเพื่อนบ้านที่ไกลออกไป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และประเทศแถบอเมริกาตะวันตก ก็ใช้มะนาวแก้ไอและรักษาโรคอื่นๆ เช่นเดียวกัน ประโยชน์ของมะนาวในแง่การนำมาใช้เป็นสมุนไพร จะกล่าวเฉพาะที่สำคัญๆ และจำเป็นต้องใช้ดังนี้

1.            แก้น้ำกัดเท้า ใช้มะนาวทาที่ตุ่มคัน หรือน้ำกัดเท้า ทาแล้วทิ้งไว้ให้แห้ง ล้างออกด้วยน้ำสบู่ ใช้ผ้าเช็ดให้แห้งแล้วเอาแป้งทา ตุ่มคันก็จะหายไป

2.            แก้ส้นเท้าแตก เอาผลมะนาวสดมาผ่าซีก แล้วบีบน้ำมะนาวให้หยดลงบริเวณที่เป็นแผลวันละ 2-3 ครั้งภายใน7 วันโรคเท้าแตกจะหายไป

3.            แก้ขาลาย  คนที่ขาลายเป็นจุดดำเม็ดเล็กๆนั้น แก้ได้โดยเอามะนาวบีบใส่ดินสอพองพอหมาดๆ แล้วทาทุกคืนก่อนนอนพอรุ่งเช้าก็ล้างออกทำอย่างนี้ทุกวันไม่นานรอยด่างดำก็จะลบหายไปเอง

4.            แก้ไฟลวก  น้ำร้อนลวกให้เอาน้ำมะนาวมาชโลมบริเวณที่ถูกไฟลวกหรือน้ำร้อนลวก มีสรรพคุณดับพิษปวดแสบปวดร้อนได้ผล

5.            แก้ปวดท้อง  ท้องอืดท้องเฟ้อ บีบเอาน้ำมะนาวกินกับน้ำอ้อยหรือน้ำตาล จะแก้อาการเหล่านี้ได้

6.            แก้ปวดขมับ  นำมะนาวมาฝานเป็นซีกบางๆ เอาปูนแดงที่กินกับหมากละเลงด้านหน้าของซีกมะนาวนั้นบางๆ แล้วปิดตรงขมับทำอยู่ประมาณสองอาทิตย์อาการก็จะค่อยๆหายไป

7.            แก้ไข้  นำใบมะนาวมาหั่นเป็นฝอยๆ ชงด้วยน้ำเดือด ใช้แบบดื่มน้ำชาจะช่วยลดไข้ และใช้อมกลั้วคอฆ่าเชื่อโรคได้อีกด้วย

8.            แก้เลือดออกตามไรฟัน  เกิดจากการขาดวิตามินซี ทำให้เหงือกบวมและมีเลือดออกตามไรฟันเป็นประจำ การรักษาให้กินน้ำมะนาวหรือผลไม้เปรี้ยวๆ เช่น ส้ม จะแก้โรคนี้ได้

9.            แก้ไอ  โดยใช้มะนาว 1 ส่วน น้ำเชื่อม 1 ส่วน และเกลือนิดหน่อย ผสมให้เข้ากันดี ใช้จิบทุกครั้งที่ไอ

นอกจากนี้ประโยชน์ด้านอื่นๆของมะนาวที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันก็มีมายมาก เช่น เปลือกมะนาวใช้ขัดภาชนะทองเหลือง ทองแดง เครื่องเงิน และเครื่องนากให้เงางามสดใสขึ้น ใช้มะนาวผ่าซีกถูกตามใบมีด หลังจากใช้มีดผ่าปลีกล้วย มีดจะมีสีคล้ำ จะทำให้มีดสะอาดดังเดิม และใช้มะนาวผสมกับเกลือปนถูตรงบริเวณที่เปื้อนเลือดของเสื้อสีขาว แล้วซักด้วยน้ำเย็น รอยคาบ จะหายไปเป็นต้น

                                                                 พันธุ์มะนาว

พันธุ์มะนาวที่ปลูกกันอยู่ในในประเทศไทยปัจจุบันมีอยู่หลายพันธุ์บางพันธุ์ก็มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาก บางพันธ์ก็มีความสำคัญทางเศรษฐกิจน้อย และบางพันธุ์ก็ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเลย การปลูกหรือความนิยมของเกษตรและประชาชนทั่วไป ก็ขึ้นอยู่กับความสำคัญของมะนาวแต่ละพันธุ์ พันธุ์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจดี หรือมีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาก ก็มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วไป พันธุ์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจน้อย ก็มีการปลูกกันบางเฉพาะพื้นที่ส่วนพันธ์ที่ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเลย ก็ไม่ค่อยนิยมปลูกกัน หรือที่ปลูกอยู่แล้วก็จะถูกทำลายทิ้งไป พันธุ์มะนาวที่นิยมปลูกอยู่ในประเทศไทย และได้มีการรวบรวมไว้เป็นหลักฐานในขณะนี้ได้แก่

1.            มะนาวหนัง  ลักษณะต้นเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 2-5 เมตร แตกก้านสาขาเป็นระเบียบ กิ่งอ่อนมีลักษณะเป็นเหลี่ยมเขียวจาง เมื่อโตขึ้นจะกลมและมีสีเข้มขึ้น ต่อมาสีของกิ่งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และในที่สุดเมื่อแก่มากๆ จะเป็นสีเทา ตามกิ่งจะมีหนามแหลมและแข็ง มีทั้งหนามสั้นและหนามยาว โคนหนามมีสีเขียว ปลายหนามมีสีน้ำตาล รอยต่อสีเขียวและสีน้ำตาลมักมีสีขาวเห็นชัดเจน เมื่อกิ่งแก่หนามจะแห้งและตายไป ลักษณะของใบเมื่อยังอ่อนอยู่จะเป็นสีเขียวจางเกือบเป็นสีขาวเมื่อใบแก่ขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบละเอียดเป็นมัน ใบเป็นรูปไข่ ปลายใบค่อนข้างป้าน หรือค่อนข้างแหลม มักมีร่องลึกสลับกับร่องตื้นหรือบางทีเป็นหยักละเอียด แผ่นใบมีความกว้างประมาณ4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7 เซนติเมตร เมื่อออกดอกพบว่าดอกเมื่อเล็กๆ มีสีเขียว บางทีพบสีม่วงที่กลีบนอกบ้าง เมื่อดอกโตขึ้นกลีบชั้นในจะมีสีขาวชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนพวกที่มีสีม่วงแดงหรือแดงเรื่อๆเห็นได้ชัดเมื่อยังเล็กนั้น จะจางหายไปเป็นสีขาวบริสุทธิ์เมื่อดอกโตเต็มที่แล้ว เมื่อดอกบานกลีบในจะเห็นมีปลายแหลม เกสรตัวผู้มีสีเหลืองชัดมาก ความกว้างของดอกเมื่อบานเต็มที่กว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และเมื่อดอกได้รับการผสมพันธุ์จนกลายเป็นผลพบว่าผลอ่อนมีลักษณะกลมยาวหัวท้ายแหลม เมื่อโตขึ้นจะค่อยๆสั้นเข้า หัวท้ายเริ่มมนเข้า ผลโตเต็มที่ส่วนมากจะมีลักษณะกลมค่อนข้างยาว มีกลมมนบ้างเล็กน้อยถ้าหัวมีจุกก็เป็นเพียงจุกเล็กๆเตี้ยๆ ผิวเปลือกเรียบและเปลือกบาง เมล็ดมีลักษณะเรียบไม่มีลายเส้น เป็นพันธุ์ที่มีรสเปรี้ยวและมีกลิ่นหอมมาก

2.            มะนาวไข่  ลักษณะเป็นพุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2-5 เมตร มีขนาดและลักษณะคล้ายมะนาวหนังเกือบทุกอย่าง แผ่นใบมีขนาดความกว้างประมาณ 3.3  เซนติเมตร ยาวประมาณ 5.5เซนติเมตร ดอกจะเกิดบริเวณซอกใบ ดอกบานมีความกว้างประมาณ 2.25 เซนติเมตร เมื่อเจริญเป็นผลอ่อนผลอ่อนจะมีลักษณะกลมมนเป็นส่วนมาก มีกลมค่อนข้างยาวบ้างเล็กน้อย หัวและก้นอาจมีจุกเล็กแต่ไม่แหลม ผลจะมีผิวเรียบเปลือกบาง ผลโตกว่ามะนาวหนัง เมล็ดมีผิวเรียบ เป็นพันธุ์ที่มี
                  
                                                                        มะนาวไข่

รสเปรี้ยวและกลิ่นหอมมาก

 

 3.            มะนาวทะวาย  เป็นมะนาวที่นิยมปลูกกันมากในปัจจุบัน เพราะเป็นพันธุ์มะนาวที่ให้ผลดก และให้ผลได้ทั้งปี จึงนิยมปลูกเป็นการค้า และปลูกเป็นไม้ประดับตกแต่งบริเวณบ้านได้ดีอีกด้วย มะนาวทะวายมีหลายพันธุ์ได้แก่

ก.     พันธุ์แม่ไก่ไข่ดก  มะนาวพันธุ์นี้มีลักษณะผลกลม ผลขนาดกลางแต่ดกดีมาก ให้ผลได้เกือบตลอดปี ปลูกในกระถางก็สามารถให้ผลผลิตได้ นอกจากนี้ยังมีพุ่มและใบที่สวยงามเหมาะที่จะปลูกเป็นเป็นไม้ประดับไว้ในบริเวณบ้าน

ข.     พันธุ์แป้นรำไพ  มะนาวที่มีลักษณะทรงผลแป้นขนาดของผลใหญ่กว่าพันธุ์แม่ไก่ไข่ดก

ค.     พันธ์แป้นทะวาย   ทรงผลมีลักษณะแป้น ผลมีขนาดปานกลาง ลักษณะที่ดีเด่นคือ มีเปลือกผลบาง ให้ผลตลอดปี และผลใช้ประโยชน์ได้ดีมาก

4.            มะนาวพม่า  ลักษณะต้นเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้น สูงประมาณ 3-5 เมตร การแตกออกของกิ่งก้านไม่ค่อยเป็นระเบียบ กิ่งอ่อนมีสีม่วง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวจางมีลักษณะเป็นเหลี่ยม เมื่อกิ่งเจริญเติบโตเต็มที่จะมีสีเขียวเข้มและกลม ในที่สุดจะกลายเป็นสีน้ำตาลหรือเทา เมื่อแก่มากๆ จะมีหนามน้อย หนามมีลักษณะสั้นๆ ส่วนตามกิ่งกระโดงอาจมีหนามยาวบ้าง ลักษณะของใบเมื่อยังอ่อนอยู่มีสีม่วงเกือบเข้ม ผิวใบมีลักษณะค่อนข้างหยาบเห็นเส้นใบที่แตกออกจากเส้นกลางใบได้ชัดเจนมาก ใบค่อนข้างยาวฐานใบมีลักษณะมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8.5 เซนติเมตร จัดเป็นมะนาวที่ใบใหญ่ที่สุดในบรรดามะนาวที่ปลูกกันทั่วๆไป ลักษณะดอกตูมเมื่อยังเล็กๆ กลีบนอกตามขอบจะมีส่วนเรื่อๆ ยิ่งที่ปลายยิ่งมีสีเข้มมาก กลีบในด้านนอกมีสีม่วงแดงเข้ม เมื่อดอกตูมเต็มที่มีสีม่วงแดงจะจางลงบ้างเมื่อดอกบานด้านนอกของกลีบในจะมีสีม่วง ตามขอบในจะมีสีขาวส่วนมากจะเป็นดอกสมบรูณ์ กลีบในยาว ปลายกลีบมน มะนาวพม่าเป็นมะนาวที่มีดอกโตที่สุด คือกว้างประมาณ 4-4.5 เซนติเมตร และเป็นพันธ์ที่มีดอกมีเกสรตัวผู้มากที่สุดด้วย เมื่อดอกได้รับการผสมพันธุ์จนกลายเป็นผลแล้วพบว่า ผลอ่อนมีรูปทรงกระบอกยาวหัวและก้นแหลม เมื่อผลโตขึ้นจะโป่งออกเรื่อยๆ หัวและก้นแหลมน้อยลง ผลจะค่อยๆกลม ผิวของผลเมื่อยังเล็กอยู่จะมีร่องตามความยาวและขรุขระ จนผลโตขึ้นร่องจะค่อยๆ หายไปและมองไม่เห็นเมื่อผลโตเต็มที่จะมีจุกเล็กเตี้ยๆ ที่ก้นมีจุกแหลมเล็กผิวของเปลือกหยาบและมีปุ่มมาก ผลมีขนาดโตเท่ากับผลของส้มเขียวหวานเป็นพันธุ์ที่มีรสเปรี้ยวและกลิ่นหอมน้อย

5.            มะนาวโมฬี  มีลักษณะลำต้นเป็นไม้พุ่ม หรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กสูงประมาณ 1-2 เมตร กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมๆมีสีเขียวจาง อาจมีสีม่วงจางๆปนเล็กน้อยเมื่อกิ่งโตเต็มที่จะกลมและมีสีเขียวกิ่งแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือเทา มีหนามแข็งอยู่ทุกซอกทุกมุมใบ โคนกิ่งมีหนามยาว ส่วนปลายกิ่งมักมีหนามสั้น ลักษณะใบอ่อนมีสีม่วง ผิวใบค่อนข้างหยาบ ปลายใบมน ขอบใบตื้น ฐานใบใหญ่มากคล้ายรูปหัวใจคล่ำ ขนาดแผ่นใบกว้างประมาณ 4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6.5 เซนติเมตร ขณะที่ดอกตูมเล็กๆกลีบนอกตามขอบและกลีบในนั้นจะค่อยๆจางหายไปจนในที่สุดเมื่อดอกตูมโตเต็มที่ใกล้จะบานจะมีสีขาว เมื่อดอกบานจะเห็นปลายกลีบในมน เมื่อดอกได้รับการผสมแล้วจะเห็นสีแดงเรื่อๆ ตรงกลางบ้าง รังไข่จะกลม มีก้นมนและมีลักษณะแหลมทางหัวเล็กน้อย ขนาดความกว้างของดอกเมื่อดอกบานจะกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ลักษณะผลจะกลมโต แต่ส่วนก้นจะกลมแป้น มีเปลือกหนาแข็ง ผิวค่อนข้างเรียบไม่มีรอยตะปุ่มตะป่ำ เมล็ดมีลายเส้นเห็นชัดเจน เป็นพันธ์ที่มีรสเปรี้ยวแต่มีกลิ่นหอมน้อย ข้อดีของมะนาวพันธุ์นี้คือมีลำต้นใหญ่แข็งแรงเหมาะสำหรับใช้ทำเป็นต้นตอ แล้วเอาพันธุ์อื่นที่ดีกว่ามาทาบกิ่ง ติดตาหรือต่อยอด

6.            มะนาวเตี้ย ลักษณะต้นเป็นทรงพุ่มเตี้ยๆ สูงประมาณ 0.5-1 เมตร นิยมปลูกใส่กระถางหรือภาชนะต่างๆจึงมักเรียกว่ามะนาวกระถาง จะให้ผลผลิตเร็วกว่าพันธ์อื่นๆ ถ้าปลูกด้วยเมล็ดและมีการบำรุงรักษาที่ดี ประมาณครึ่งปีก็จะเริ่มให้ผลลักษณะลำต้นและกิ่งโดยทั่วไปเหมือนมะนาวหนังและมะนาวไข่ มีหนามสั้น และรอยต่อระหว่างสีเขียวและสีน้ำตาลจะมีสีขาวเล็กน้อยหรือเกือบไม่มีเลย ใบมีลักษณะเป็นรูปยาวใบมน ใบมีสีเขียว ผิวละเอียดมาก ก้านใบมีปีกแคบๆความกว้างของแผ่นใบจะแคบมากดังนั้นลักษณะของใบจึงค่อนข้างไปทางด้านยาว ขณะที่ดอกตูมจะมีสีเขียวจาง เมื่อตูมเต็มที่จะมีสีขาวบริสุทธิ์ ลักษณะทั่วไปอื่นๆ เหมือนมะนาวหนัง และมะนาวไข่ ความกว้างของดอกเมื่อบานจะกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร เมื่อได้รับการผสมและกลายเป็นผล ผลจะมีลักษณะมนหรือยาวเล็กน้อย ด้านหัวมีจุก ส่วนด้านก้นจะมีลักษณะแป้น ตรงกลางมีจุกแหลมยาวเล็กๆ ของเกสรตัวผู้ติดอยู่ ผิวของผลค่อนข้างหยาบ เมล็ดมีสีค่อนข้างเหลือง ถ้าทิ้งไว้นานจะมีสีเหลืองจัด เป็นพันธุ์ที่มีรสเปรี้ยวและกลิ่นหอมมาก

7.            มะนาวด่านเกวียน  เป็นมะนาวพันธุ์ใหม่ที่ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตร เมื่อปี พ.. 2538 เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงปานกลาง มีระบบรากลึก ทรงพุ่มกว้างประมาณ 2-3 เมตร สูงประมาณ 4 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาดี มีหนามตามกิ่งก้านแต่หนามเล็ก ใบสีเขียว กว้างยาวประมาณ 3.5x6 เซนติเมตร มีกลิ่นฉุนดอกเมื่อบานมีสีขาว ออกดอกตั้งแต่โคนกิ่งถึงปลายกิ่ง ผลเมื่ออ่อนมีสีเขียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.0-1.5 เซนติเมตร เริ่มมีน้ำเต็มผล เมื่อผลแก่เต็มที่จะมีสีเหลือง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 เซนติเมตร เปลือกไม่ขม เปลือกบางไม่มีกลิ่นฉุน มีรสเปรี้ยว เมื่อผลโตเต็มที่ผลคล้ายส้มเกลี้ยง ส้มซ่าหรือส้มตรา ให้ผลดกตลอดปีผลมีน้ำมาก ทนแล้งและทนต่อโรคแคงเกอร์

8.            มะนาวปีนัง  เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะผลกลมยาว โตกว่ามะนาวหนังก้นแหลมคล้ายไข่เต่า เปลือกหนามมีกลิ่นหอม ใบเหมือนมะนาวทั่วไป มีลักษณะทรงพุ่มสวยงาม สามารถปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี

9.            มะนาวตาฮิติ  มะนาวตาฮิติเป็นมะนาวพันธุ์ต่างประเทศซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้นำมาจากหมู่เกาะตาฮิติ เพื่อทำการศึกษาค้นคว้า และพบว่ามะนาวพันธ์นี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกภูมิภาคในประเทศไทย ขนาดของผลโตมาก เปลือกผลหนา เมื่อแก่จัดผลก็มีสีเขียวเข้มเหมือนเดิม มีน้ำมาก มะนาวพันธ์นี้มีลักษณะดีอยู่อย่างหนึ่ง คือในผลจะไม่มีเมล็ดอยู่เลย ดังนั้นการขยายพันธุ์จึงไม่สามารถใช้วิธีเพาะเมล็ดได้ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีตอน ติดตา ต่อยอด ต่อกิ่ง หรือวิธีอื่นๆ ที่เป็นการขยายพันธุ์โดยไม่ใช้เพศเท่านั้น  นอกจากนี้ยังมีมะนาวพันธุ์อื่นๆ ซึ่งมิได้มีการรวมไว้เป็นหลักฐานชัดเจน แต่เท่าที่นิยมปลูกกันมากในปัจจุบัน ได้แก่มะนาวพวกที่เป็นพันธุ์ทะวาย เพราะสามารถให้ผลได้ตลอดปีและให้ผลผลิตต่อพื้นที่ปลูกสูงมาก

การเลือกพื้นที่ปลูกมะนาว

การเลือกพื้นที่ปลูกนับเป็นขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งที่จะทำให้การปลูกมะนาวประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว เพราะมะนาวเป็นพืชที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากกว่าไม้ผลอื่นๆ อีกหลายชนิด จำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและทั่วถึงตลอดทั้งปี การที่เราสามารถเลือกพื้นที่ปลูกได้เหมาะสม จะสามารถควบคุมดูแลได้โดยง่าย ช่วยประหยัดทั้งเวลาและต้นทุนการผลิตลงได้มาก สิ่งที่ควรนำมาพิจารณาในการเลือกพื้นที่ปลูกมะนาวมีดังนี้คือ

1.            ดิน  มะนาวสามารถขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นดินเหนียว ดินทราย หรือดินลูกรัง ปลูกได้ตั้งแต่ที่ดอนจนถึงที่ลุ่ม แต่ตามปกติแล้วมะนาวจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบที่ต่ำมีน้ำขังแฉะ ระดับหน้าดินควรลึกอย่างน้อยประมาณ 1 เมตร เพราะรากมะนาวทั่วไปสามารถหยั่งลึกลงในดินได้ถึง 5 เมตร การปลูกมะนาวในที่ดอนจะได้ต้นมะนาวที่ใหญ่โต อายุยืน เพราะรากสามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ แพร่ขยายไปหาอาหารได้ไกลๆ ส่วนการปลูกมะนาวในที่ลุ่มหรือแบบยกร่องสวนนั้นระบบรากจะถูกจำกัดอยู่ในที่แคบๆ ทำให้ต้นมะนาวมีขนาดเล็กกว่า อย่างไรก็ตาม การที่จะปลูกมะนาวให้เจริญงอกงามมีผลดกและคุณภาพดีควรปลูกในพื้นที่ดินโปร่ง ดินค่อนข้างอุดมสมบรูณ์ มีอินทรียวัตถุมาก เป็นพื้นที่ลาดเทเล็กน้อยมีการระบายน้ำดี และมีความเป็นกรดด่างของดินประมาณ 5.6-6  ถ้าสามารถเลือกพื้นที่ที่ดินมีความเหมาะสมอยู่แล้ว ก็จะลดต้นทุนในการผลิตลงได้มาก เพราะการปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบรูณ์และมีสภาพที่เหมาะสมจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ในด้านความอุดมสมบรูณ์ของดิน ธาตุอาหารหรือสภาพที่เป็นกรดด่างของดิน ควรได้นำดินไปตรวจวิเคราะห์ดูเสียก่อนเพื่อความแน่ใจสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณาคือ พื้นที่นั้นจะต้องไม่เคยมีประวัติว่าเป็นโรคแมลงระบายอย่างรุนแรงมาก่อนโดยเฉพาะเชื่อโรคแมลงที่อยู่ในดิน เพราะพวกนี้ป้องกันกำจัดยาก ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก และเสี่ยงต่อผลร้ายที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง

2.            น้ำ  แม้มะนาวเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย แต่มีความต้องการน้ำมากพอสมควร น้ำจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการปลูกมะนาวอีกปัจจัยหนึ่ง มะนาวต้องการน้ำตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนกระทั่งติดผล ถ้ามะนาวขาดน้ำในช่วงแรกๆ นี้ จะทำให้ต้นมะนาวเติบโตช้าแคระแกร็นการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ต้นมะนาวเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วขึ้น หลังจากมะนาวเริ่มให้ผลแล้วก็ยังต้องการน้ำเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอเรื่อยไปจนกว่าผลมะนาวจะแก่ ในระยะมะนาวติดผลนี้ ถ้ามะนาวขาดน้ำจะเหี่ยวเฉาเจริญเติบโตช้า ให้ผลไม่ดก ผลที่ได้มีคุณภาพไม่ดี เช่น ผลมีขนาดเล็กกว่าปกติ ผลแคระแกร็น แข็ง หรือมีเนื้อฟ่าม เป็นต้นน้ำจึงมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของต้นและคุณภาพของผลมะนาวมาก นอกจากนี้น้ำยังเป็นตัวละลายแร่ธาตุๆ ในดินให้พืชสามารถดูดซึมไปใช้ได้ ไม่ว่าดินจะอุดมไปด้วยอินทรียวัตถุเพียงใดถ้าขาดน้ำเสียงแล้วก็ไม่มีประโยชน์กับมะนาวแต่อย่างใด ดั้งนั้นการเลือกพื้นที่ปลูกมะนาว ควรเลือกที่ใกล้แหล่งน้ำ สามารถให้น้ำแก่ต้นมะนาวได้ในเวลาที่ต้องการโดยการลงทุนที่ไม่สูงมากนัก นอกจากนี้มะนาวยังแตกต่างจากผลไม้อื่นๆ คือ ต้องมีการให้น้ำและงดน้ำเป็นช่วงๆ แหล่งน้ำและวิธีการให้น้ำที่สะอาด ประหยัด และเพียงพอจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก

3.            อุณหภูมิ  อุณหภูมิหรือความร้อนหนาวของอากาศไม่ค่อยจะมีผลต่อการปลูกมะนาวในบ้านเรามากนัก แต่ก็ควรคำนึงถึงไว้บ้าง ถ้าอากาศหนาวเย็นเกินไปจนถึงจุดเยือกแข็ง อาจทำให้ต้นมะนาวตายได้หรืออากาศร้อนจัดเกินไป ก็จะทำให้ใบมะนาวไหม้หรืออาจตายได้แต่โดยทั่วไปอุณหภูมิมักมีผลกระทบต่อคุณภาพของผลผลิตมากกว่าโดยทำให้สีของผิวและเนื้อผลมะนาวแตกต่างกันออกไป นอกจากนี้อุณหภูมิยังมีผลทางอ้อมต่อการเจริญเติบโตของต้นมะนาว เช่น อากาศร้อนก็จะคายน้ำมากขึ้น ทำให้ใบเหี่ยวเฉา เป็นต้น

4.            ความชื้นในอากาศ  ความชื้นในอากาศมีผลต่อต้นมะนาวและคุณภาพของผลมะนาวเช่นกัน เช่น ถ้าความชื้นในอากาศมีน้อยจะทำให้เปลือกมะนาวหนาขึ้นความชื้นมากเปลือกจะบางหรือถ้าวามชื้นในอากาศมีน้อยใบมะนาวจะหอตั้งขึ้น เป็นต้นถ้าความชื้นในอากาศมีน้อยเกินไปอาจแก้ไขด้วยการปลูกพืชอย่างอื่นแซมในแปลงปลูกมะนาวบ้าง เช่น ต้นกล้วย ต้นทองหลาง เป็นต้น แต่อย่าปลูกพืชอื่นมากเกินไปจนแสงแดดส่องไม่ถึงพื้นหรือโคนต้นจะทำให้โรคและแมลงหลายชนิดระบาดทำลายต้นมะนาวได้ง่ายช่วงการบังคับทำให้มะนาวออกดอก ไม่ควรให้มีความชื้นในอากาศมากเพราะจะทำให้มะนาวดอกน้อย หรือไม่ออกดอกเลย

5.            ลม  ลมมีผลกระทบต่อมะนาวหลายประการ ลมมีความเร็วสูงย่อมทำให้น้ำในดินระเหยไปได้อย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นดินแห้งลดความชุ่มชื้นของดินลง จำเป็นต้องให้น้ำมากกว่าปกติเพราะความชื้นเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของมะนาว ลมที่พัดแรงๆจะทำให้ยอดและกิ่งมะนาวฉีกหักเสียหาย หรือทำให้ต้นหักหรือโค่นล้มได้ง่ายเพราะมะนาวที่ปลูกกันทั่วๆไปนิยมใช้กิ่งตอนปลูกเป็นส่วนมากระบบรากจึงไม่แข็งแรงเท่าที่ควร โดยเฉพาะในที่ลุ่มรากมะนาวถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ นอกจากนี้แรงของลมยังทำให้ดอกหักเสียหาย
                        

มะนาวด่านเกวียนเทียบกับมะนาวแป้น

ดอกเกิดการร่วงหล่นมาก เมื่อติดผลแล้วก็จะทำให้ผลร่วงหรือเสียดสีกันทำให้ผิวผลเสีย มีรอยตำหนิหรือรอยแผลซึ่งเป็นช่องทางให้โรคแมลงเข้าทำลายได้ง่ายขึ้น ดังนั้นในแปลงปลูกมะนาวในที่โล่งๆ และมีลมพัดแรงเป็นประจำ ควรปลูกไม้กันลมเพื่อปะทะลมไว้ โดยปลูกเป็นแถวรอบแปลงมะนาว อาจใช้ไม้สน ไม้ไผ่รวกหรือต้นยูคาลิปตัสก็ได้ ไม้เหล่านี้นอกจากจะช่วยกันลมให้แรงลมอ่อนตัวลงแล้ว ยังช่วยรักษาความชื้นในแปลงปลูกได้อีกด้วย

6.            การคมนาคม  การคมนาคมก็เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการเลือกพื้นที่ปลูกมะนาว ถ้าแหล่งปลูกมะนาวอยู่ใกล้ตลาดใกล้ชุมชน  การเดินทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางเรือ ทางรถ ก็สามารถทำได้สะดวก ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าพื้นที่ปลูกไกลๆ ค่าใช้จ่ายประเภทนี้มักมองไม่เห็นเป็นตัวเงินเหมือนค่าใช้จ่ายประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปดูแลสวน การติดต่องานต่างๆ การซื้อปุ๋ยซื้อยาและวัสดุต่างๆ รวมทั้งการลำเลียงผลผลิตออกสู่ตลาด แต่ถ้าคิดดีๆ ปีหนึ่งๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายพวกนี้ไม่ใช่น้อย ดังนั้นพื้นที่ปลูกมะนาวควรเลือกแหล่งที่ไม่ไกลจากตลาดซื้อขายปัจจัยการผลิตและตลาดซื้อขายผลผลิตมากนัก

7.            อื่นๆ  นอกจากข้อพิจารณาต่างๆดังได้กล่าวมาแล้วสภาพนิสัยใจคอของผู้คนที่อยู่แหล่งทำสวน ก็เป็นสิ่งจำเป็นจะต้องคำนึง เพราะถ้าเป็นแหล่งที่มีผู้คนนิสัยอันธพาล หรือมีอิทธิพลเจ้าของสวนอาจจะโดนแกล้งด้วยวิธีการต่างๆซึ่งก่อให้เกิดความรำคาญหมดกำลังใจ หรืออาจทำให้ขาดทุนย่อยยับต้องเลิกรากิจการไป โดยเฉพาะเจ้าของสวนที่ไม่ใช่คนในท้องถิ่นนั้น การที่จะเลือกพื้นที่ทำสวนมะนาวหรือการเกษตรใดก็ตาม ควรสืบทราบความเป็นอยู่และนิสัยใจคอของเพื่อนบ้านแถวนั้นเสียก่อน เพื่อประกอบกันกับความเหมาะสมด้านอื่นๆ ด้วย

                                                            วิธีการปลูก

เมื่อเลือกพื้นที่ได้เหมาะสม มีการเตรียมพื้นที่ การเตรียมหลุมปลูก และเตรียมกิ่งพันธุ์ไว้เรียบร้อยแล้ว ก็จะนำกิ่งพันธุ์ลงลงปลูก กิ่งพันธุ์ที่จะนำมาปลูกควรเป็นกิ่งพันธุ์ที่ผ่านการนำไปชำในถุงพลาสติกออกเสียก่อนหลังจากนั้นจึงวางกิ่งให้อยู่ตรงกลางหลุม ให้ส่วนบนของกระเปาะตอนในกรณีนำไปชำก่อนอยู่ต่ำกว่าระดับผิวดินประมาณ 2 นิ้ว หากมีรากพ้นดินปลูกยาวออกมา ก็จัดรากโดยให้แผ่ออกไปรอบๆ ในลักษณะวิธีการนำกิ่งมะนาวลงปลูกในหลุมนี้ สามารถทำได้ 2 แบบคือ

1.            ปลูกกิ่งให้ตั้งตรง การปลูกแบบนี้ก็เพื่อให้ได้ต้นมะนาวที่มีโคนเดียว บริเวณโคนต้นไม่ทึบมาก ทำให้แดดส่องถึงพื้นได้ง่ายลมถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งจะช่วยลดการระบาดของโรคแมลงลงได้มากและการดูแลปฏิบัติงานในสวนทำได้ง่าย วิธีนี้นิยมใช้กับการปลูกมะนาวโดยทั่ว ๆไป

2.            การปลูกให้กิ่งเอียง โดยนำกิ่งมะ นาวลงปลูกให้เอียงประมาณ 45 องศา ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ได้กิ่งที่โคนต้นหลายกิ่ง การปลูกแบบนี้ต้นมะนาวจะโตเร็วในระยะแรกๆ และเมื่อให้ผลจะมีพื้นที่ในการให้ผลได้มากกว่า แต่เมื่อต้นมะนาวมีอายุมากขึ้นจำเป็นต้องหาไม้ช่วยค้ำกิ่งใหญ่ไว้ มะนาวที่ปลูกแบบนี้จะได้ทรงพุ่มที่เตี้ย ทรงพุ่มใหญ่แต่ไม่สูงมาก ทำให้การเก็บผลทำได้ง่าย แต่ระวังอย่าให้โคนต้นทึบ จะต้องดูแลให้โคนต้นโปร่งอยู่เสมอ โดยตัดกิ่งเล็กๆ ที่อยู่ติดดินออกให้หมด เพื่อป้องกันโรคและแมลงต่างๆ ที่จะเข้า
        
            มะนาวที่ปลูกจากกิ่งตอนอายุ 1 เดือนในสวนของเกษตรกรที่จังหวัดเพชรบุรี 
  
            
                                           สวนปลูกมะนาวที่ปลูกในที่ลุ่มแบบยกร่อง

 
มาทำลายต้นมะนาว  เมื่อวางกิ่งมะนาวลงในหลุมแล้วค่อยๆ โรยดินกลบจนมิดควรเก็บให้ดินพูนสูงขึ้นเล็กน้อยเพื่อป้องกันการแช่ขังของน้ำในปากหลุม จากนั้นกลบดินรอบๆ กิ่งตอนให้แน่นพอสมควร ตู่อย่าให้แน่นมากเกินไป เมื่อปลูกเสร็จเรียนร้อยแล้วให้รีบรดน้ำทันทีเพื่อให้เม็ดดินกระซับราก และให้รากดูดน้ำไปเลี้ยงลำต้นได้เร็วที่สุดควรมีไม้ปักหลักและผูกเชือกยึดลำต้นมะนาวที่ปลูกใหม่เพื่อป้องกันมิให้เกิดการโยกคลอนเมื่อโดนลมพัด เพราะในระยะแรกรากยังไม่สามารถจับดินได้ดีเท่าที่ควร อาจทำให้เกิดการเจริญเติบโตของมะนาวเป็นไปด้วยความไม่สมบรูณ์ จนกระทั่งมะนาวที่ปลูกตั้งตัวได้จึงเอาไม้ที่ปักนี้ออก ซึ้งจะช่วยให้มะนาวนิยมทำกันช่วงเช้าหรือเย็น ส่วนฤดูกาลปลูกควรเป็นช่วงต้นฤดูฝน เพราะฝนจะตกบ่อยเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการให้น้ำไปได้มากนอกจากนี้ยังช่วยให้กิ่งพันธุ์ตั้งตัวได้เร็ว และลดอัตราการตายหลังปลูกให้น้อยลงด้วย